ทีมนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเคมีและวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เล่าประสบการณ์อันมีค่าในการเข้าร่วมแข่งขันรถขนาดเล็กที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเคมี พร้อมแสดงศักยภาพบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ
โดยกลุ่มแข่งขันนี้ ประกอบด้วย เอ้ก-กอบชัย ชัยคำ, เต้–ธนาธิป เต็มอุ่น, เฟรม–สุรภาส สิทธิเดช และปอนด์ – รัฐพล ฉายอรุณ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี และมี รศ.ผ่องศรี ศิวราศักดิ์ และ ดร.ธีระวัฒน์ เหมือนศรีชัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมีและวัสดุ เป็นอาจารย์ผู้แนะนำ ซึ่งล่าสุดคว้ารางวัลรองชนะเลิศ จากการเข้าร่วมแข่งขันรถขนาดเล็กที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเคมี Chemical Engineering Games ครั้งที่ 14 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่ผ่านมา
เอ้ก – กอบชัย ชัยคำ ในฐานะหัวหน้าทีม เปิดอกว่า เมื่อเห็นโจทย์การแข่งขันในการประดิษฐ์และพัฒนารถ โดยพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถจะต้องมาจากพลังงานไฟฟ้าเคมีเท่านั้น หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Chem-E Car (เคม-อี คาร์) ขนาดรถจะต้องไม่เกิน 30 x 40 เซนติเมตร และมีข้อบังคับระยะทางในการขับเคลื่อน 30 เมตร จึงได้ปรึกษากันภายในทีม โดยนำความรู้ที่เรียนมาด้านวิศวกรรมเคมีมาปรับใช้ใช้จริง
“หลังจากระดมสมองร่วมกันในกลุ่ม พร้อมกับนำเสนออาจารย์ผู้แนะนำเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม โดยนำความรู้เรื่องเซลล์ไฟฟ้าเคมีและหลักการทำงานของเครื่องปั่นไฟมาเป็นหลักการหลัก ทำหน้าที่เปลี่ยนรูปพลังงานเคมีไปเป็นพลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน โดยนำขั้วไฟฟ้า คือ แผ่นทองแดงและแมกนีเซียมจุ่มในสารละลายคอปเปอร์ซัลเฟตและ กรดซัลฟิวริก ตามลำดับ ซึ่งเป็นขั้วโลหะและเคมีภัณฑ์พื้นฐานหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง ขั้วไฟฟ้าทั้งสองจะทำปฏิกิริยาออกซิเดชันและรีดักชันกับสารละลาย โดยแมกนีเซียมจะแตกตัวให้อิเล็กตรอนได้ดีกว่าทองแดง ทำให้อิเล็กตรอนเคลื่อนที่จากขั้วแมกนีเซียมไปสู่ขั้วทองแดง ขั้วแมกนีเซียมจะเป็นขั้วไฟฟ้าลบและมีศักย์ไฟฟ้าต่ำกว่า ส่วนขั้วทองแดงจะเป็นขั้วไฟฟ้าบวกและมีศักย์ไฟฟ้าสูง ต่อจากนั้นจะทำให้มีกระแสอิเล็กตรอนเคลื่อนที่จากขั้วแมกนีเซียมไปสู่ขั้วทองแดง จึงเกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น และเมื่อนำไปต่อกับชุดมอเตอร์ความเร็วรอบสูง ขนาด 3 โวลต์ จำนวน 2 ตัว ที่ติดไว้กับล้อทั้งสองข้าง จะทำให้รถเคลื่อนที่ได้ ส่วนโครงสร้างของตัวรถทำจากเศษไม้อัด เพื่อให้มีน้ำหนักเบา สามารถขับเคลื่อนได้ง่าย เงินลงทุนในการผลิตราคาประมาณ 300 บาทต่อคัน” เอ้ก – กอบชัย ชัยคำ บอก
“ในเบื้องหน้าจะทดลองเปลี่ยนชนิดของขั้วโลหะและสารละลายเกลือของโลหะเพื่อให้สามารถประดิษฐ์และพัฒนาให้เกิดกระแสไฟฟ้าจากปฏิกิริยาเคมีได้มากยิ่งขึ้น รถจะได้วิ่งเร็วขึ้น โดยคำนึงถึงความสะดวก สามารถควบคุมการขับเคลื่อนได้ ทั้งนี้ต้องออกแบบตัวรถให้มีน้ำหนักเบา ตัวรถภายนอกจะตกแต่งให้สวยงามและทันสมัย พร้อมทั้งได้นำประสบการณ์ในการแข่งขันมาเป็นบทเรียนในการทดลองและพัฒนาต่อไป ดังนั้น การแข่งขันเคมีคาร์วิศวกรรมเคมีของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจึงเป็นการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเคมีในเชิงสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ทั้งยังเกื้อหนุนความมีศักยภาพบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพอีกด้วย ” เต้ – ธนาธิป เต็มอุ่น กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ รถขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าเคมี Chem-E Car จะร่วมโชว์ผลงาน ในงานครบรอบวันสถาปนา 40 ปี มทร.ธัญบุรี ภายใต้ทัศนะ “40 ปี ราชมงคลธัญบุรี นวัตกรรมสร้างชาติ สร้างอนาคต” พร้อมด้วยชิ้นงาน นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์อื่น ฯลฯ ระหว่างวันที่ 17 – 20 มกราคม 2558 นี้ เข้าชมฟรีตลอดงาน ข้อมูลเพิ่มเติม โทร.02 549 4990
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น